เท้ง ณัฐพงษ์ โพสต์ร่ายยาวถึง โครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 68 ที่ผ่านมา เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กถึง โครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง ใช้งบพันล้านแต่ระบบพัง

เผยว่า #เที่ยวไทยคนละครึ่ง ล้มเหลว เพราะรัฐไทยไม่มี “กลไกกลาง” ในการควบคุมการทำแอป ให้เป็นไปตามมาตรฐาน

โครงการ “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” กลายเป็น “ครึ่ง ๆ กลาง ๆ” ทั้งที่ใช้งบระดับพันล้าน แต่กลับเต็มไปด้วยปัญหา แอปล่ม ระบบพัง ผู้ประกอบการเข้าไม่ถึง ประชาชนใช้งานไม่ได้

ตั้งแต่ระบบยืนยันตัวตนที่ติดขัด OTP ไม่ถึงมือ เว็บไซต์ล่ม การสื่อสารชื่อโดเมนเว็บไซต์ผิดพลาด ไปจนถึงปัญหาโรงแรมบางแห่งปรับราคาห้องพักสูงเกินจริง

ปัญหาเหล่านี้สะท้อนถึง ความหละหลวมในการออกแบบระบบ และการสื่อสารกับประชาชน อย่างชัดเจน

นี่ไม่ใช่ความผิดพลาดเฉพาะโครงการ แต่มันคือปัญหาเชิงระบบของรัฐไทย ที่ทำแอปโดยไม่มีมาตรฐาน

ปี 2569 มีคำของบประมาณทำแอปใหม่จากหน่วยงานรัฐมากกว่า 4,200 ล้านบาท แต่แอปรัฐที่คนไทยรู้จักกลับไม่ถึง 100 ตัว แอปส่วนมากไม่มีคนใช้ ถูกทิ้งร้าง

กลายเป็น “แอปผี” ทั้งที่ใช้งบจริง ทำจริง ตรวจรับจริง และที่แย่ยิ่งกว่า ประชาชนไม่เคยได้ใช้จริง

แม้วันนี้เรามี พระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 (พรบ.รัฐบาลดิจิทัล) ที่กำหนดชัดว่า แอปหรือระบบของหน่วยงานรัฐ ต้องเชื่อมต่อข้อมูลกับระบบกลางของรัฐ

เช่น แอป “ทางรัฐ” เพื่อให้สามารถใช้งานร่วมกัน และประชาชนไม่ต้องสมัครใหม่ทุกครั้งที่ใช้บริการภาครัฐ

แต่วันนี้ หน่วยงานจำนวนมากก็ยังไม่ทำตามกฎหมาย แอปแต่ละตัวหน่วยงานรัฐต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างใช้ ฐานข้อมูลแยกกัน ไม่เชื่อมกัน ประชาชนต้องกรอกข้อมูลซ้ำ ๆ ทุกครั้งที่ใช้บริการแอปใหม่

พรรคประชาชนเสนอให้ ยกระดับ “TOR กลางขั้นต่ำ” ให้เป็นมาตรฐานร่วมของทุกโครงการดิจิทัลภาครัฐเพื่อให้ “งบประมาณ” ไม่ใช่แค่ตัวเลข

แต่เป็น เครื่องมือบังคับให้รัฐเชื่อมแอป เชื่อมข้อมูล และทำงานร่วมกันได้จริง ซึ่ง TOR กลางขั้นต่ำ ควรกำหนดเงื่อนไขพื้นฐาน เช่น

1. ต้องเชื่อมต่อกับระบบกลาง อย่างแอป “ทางรัฐ”

2. ต้องยืนยันตัวบุคคลได้ผ่าน Digital Id ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน

3. ต้องรองรับการใช้งานกลุ่มผู้ใช้ทุกกลุ่ม เช่น กลุ่มคนพิการ, ผู้สูงวัย ฯลฯ

4. ต้องรองรับการทำ Auto Scaling เพื่อรองรับปริมาณการใช้งานจำนวนมากได้อย่างยืดหยุ่น

5. ควรเปลี่ยนรูปแบบสัญญาโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ จากการสั่งจ้างทำของ ไปเป็นการจ้างแรงงานทักษะมาพัฒนาซอฟต์แวร์สาธารณะให้กับภาครัฐ หรือที่เรียกกันว่า Agile Procurement

6. รวมถึงการกำหนด Spec ขั้นต่ำอื่น ๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เช่น Cloud-first Policy, การทำ Testing ฯลฯ เป็นต้น

รัฐควรใช้บทเรียนจากโครงการ “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” เป็นโอกาสในการยกระดับมาตรฐานการพัฒนาและบริหารโครงการดิจิทัลของภาครัฐ

ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงโครงการที่สร้างภาพความสำเร็จโดยปราศจากผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติ

นี่เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ผมเคยนำเสนอไว้เรื่องการ “ปฏิรูประบบงบประมาณ” ที่กลไกการจัดซื้อจัดจ้าง จะเป็นกลไกสำคัญในการทำให้นโยบายบรรลุผล อย่างเช่น ประเด็นการยกระดับและบูรณาการบริการดิจิทัลภาครัฐนี้

จะไม่มีวันทำสำเร็จได้เลย ถ้าไม่ใช้กลไกการจัดซื้อจัดจ้างให้ถูกจุด ลำพังการตรากฎหมาย (เช่น พรบ.รัฐบาลดิจิทัล) อย่างเดียว ไม่สามารถทำให้นโยบายบรรลุผลสัมฤทธิ์ได้ครับ

ขอบคุณข้อมูล : ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ – Natthaphong Ruengpanyawut