ทนายความด้านสิ่งแวดล้อม สรุปให้ ปมที่ดิน จอนนี่ มีสิทธิถือครองหรือไม่

หลังจากที่ จอนนี่ มือปราบ อินฟลูเอนเซอร์คนดัง ได้ถูกกรมพัฒนาสังคมฯ แจ้งความ ปมสร้างรีสอร์ทรุกล้ำเขตนิคม จ.อุบลราชธานี ล่าสุด ทางด้าน นายสมปรารถน์ โกมินทรชาติ ทนายความด้านสิ่งแวดล้อม และทนายความหุ้นส่วนบริษัท สยามกรีนลอว์ จำกัด เจ้าของงานวิจัยเรื่อง “การจัดการป่าไม้ของประเทศไทย (Forest Menagement)”

ซึ่งเป็นวิจัยทางกฎหมายเล่มแรกของประเทศไทยที่ทำเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและป่าไม้ของประเทศไทย

ได้โพสต์เฟซบุ๊ก สรุปข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของที่ดินแต่ละประเภท ไว้ดังนี้

1.ประเภทที่ดินของเอกชนหรือที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ (ที่ดินที่ให้เอกชนครอบครองและสามารถทำประโยชน์ได้)

2. ประเภทหนังสือรับรองการทำประโยชน์

3. ประเภทที่ดินของรัฐที่อนุญาตให้ใช้ประโยชน์

ซึ่งประเภทที่ 3 มีการอธิบายเรื่อง “ที่ดินนิคมสร้างตนเอง (น.ค.3)” กรณี “จอนนี่ มือปราบ” ไว้ดังนี้

ที่ดินนิคมสร้างตนเอง (น.ค.3) เป็นที่ดินที่มีการออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ ซึ่งออกให้ในนิคมสร้างตนเอง

ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ซึ่งการได้สิทธิในที่ดินของสมาชิกนิคมสร้างตนเองเมื่อสมาชิกได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแล้ว

กล่าวคือจะต้องเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ต้องไม่มีหนี้สินที่เกี่ยวกับกิจการนิคม ชำระเงินค่าช่วยทุนรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว

และได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา 8 ตาม และตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511

ต่อมาเมื่อสมาชิกของนิคมได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับอนุญาตเกินกว่า 5 ปีและได้ชำระเงินช่วยทุนที่รัฐบาลได้ลงไปแล้ว

และชำระหนี้สินเกี่ยวกับกิจการนิคมให้ทางราชการแล้ว จะได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) เป็นหลักฐาน

เมื่อทราบระบบที่ดินและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐและเอกชนแล้ว เราสามารถแยกกลุ่มคนผู้ถือครองที่ดินในนิคมสร้างตนเอง (น.ค.3) ออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ

กลุ่มที่ 1.

ผู้อยู่อาศัยมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 สำหรับบุคคลใดที่อยู่มาก่อนในพื้นที่ดินกล่าวมาก่อนการประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดินนั้น

มีสิทธิในการแจ้งเพื่อขอเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการสืบสิทฺธิในที่ดินเพื่อขอออกเป็นโฉนด ซึ่งขั้นตอนนี้จะเป็นการรวบรวมพยานหลักฐาน

และยื่นคำร้องเพื่อขออกเป็นโฉนดในที่ดินแต่ต้องพิจารณาก่อนว่ามีประกาศของกรมที่ดินให้สามารถทำเรื่องขอออกโฉนดหรือไม่อย่างไรในพื้นที่ดังกล่าว

ทั้งนี้จะต้องพิจารณาว่าทาง “กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” นั้นมีการทำเรื่องยกเลิกการทำที่นิคมสร้างตนเอง (น.ค.3)

หรือไม่อย่างไร หากมีการทำเรื่องยกเลิกการทำนิคมแล้วที่ดินดังกล่าวอาจจะถูกส่งมอบให้หน่วยงานอื่นดูแล

หรือสามารถขออกเป็นโฉนดที่ดินได้ในบางกรณีและต้องมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นกรณีๆ ไป

กลุ่มที่ 2.

ผู้มีสิทธิเข้าอยู่และใช้ประโยชน์ในที่ดินตามระเบียบตามแบบที่ดิน (น.ค.3) หลังประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497

สำหรับบุคคลที่เข้าใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่ภายหลังการประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 นั้น

จะต้องมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ซึ่งการได้สิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดิน

ของสมาชิกนิคมสร้างตนเองดังกล่าวนี้สามารถใช้ยืนยันต่อหน่วยงานรัฐว่าได้ครอบครองและทำประโยชน์อย่างถูกต้อง

ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว และจะได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) เป็นหลักฐาน

กลุ่มที่ 3.

บุคคลที่เข้าอยู่โดยไม่ชอบตามกลุ่มที่ 1 และ กลุ่มที่ 2 ตั้งแต่แรก กลุ่มนี้จะต้องพิจารณาการเข้าใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง

แม้จะมีการเข้าทำประโยชน์อย่างต่อเนื่องและมีการเปลี่ยนมือการครอบครองมีมาหลายทอด แต่การเข้าทำ

และครอบครองพื้นที่ดังกล่าวนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่แรกย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมาตั้งแต่แรกด้วยเช่นกัน

คำว่าที่ดินเปลี่ยนมือ คือ การที่ผู้เข้าทำประโยชน์มีการขายสิทธิ์การเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินซึ่งผู้ซื้อจะต้องเข้าใจก่อนว่าคนที่เข้าทำประโยชน์

ในที่ดินนิคมสร้างตนเอง (น.ค.3) เขามีสิทธิ์อยู่อาศัยและถือครองมาก่อนหรือไม่อย่างไร ถ้าผู้ขายสิทธิ์นั้นไม่มีสิทธิ์ตามกฎหมายตั้งแต่แรกแล้ว

การเข้าดำเนินการต่อย่อมถือว่าเป็นการบุกรุกที่ดินของรัฐอย่างต่อเนื่องนั่นเองและอาจถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกแผ้วถางป่า

ตามประมวลกฎหมายป่าไม้ 2484 (แก้ไขเพิ่มเติม 2562) ในมาตรา 54 และ/หรือฝ่าฝืนมาตรา 15 ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ในกรณีนี้

การแสดงตนพิสูจน์การถือครองที่ดิน (น.ค.3) มีอะไรที่จะต้องพิจารณาบ้างในกรณีนี้

1. ต้องพิจารณาก่อนว่าผู้ที่เข้ามาทำกินตามหลักเกณฑ์ตามระเบียบการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มีกี่ราย และอยู่ก่อนมีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดินมาแล้วกี่ราย

ทั้งนี้สามารถตรวจสอบการขอขึ้นทะเบียนจาก สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ได้

2. การเข้าแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ ในฐานะผู้ครอบครองและการทำประโยชน์ในที่ดิน (น.ค.3) หากผู้ใดบริสุทธิ์ใจ

และสามารถยืนยันเอกสารและหลักฐานว่าเข้ามาอย่างถูกต้องแล้ว ทางเจ้าหน้าที่จะมีหนังสือแจ้งสิทธิ์ให้กับผู้นั้นว่าสามารถครอบครองและใช้ประโยชน์ต่อได้

หากไม่มาแสดงตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ถือว่าสละสิทธิและในกรณีที่ดิน นิคมสร้างตนเอง (น.ค.3) นั้นเป็นที่ดินของรัฐ

จะไม่มีการขายสิทธิทำกินให้บุคคลอื่นแต่อย่างใด แต่หากผู้ใดไม่ประสงค์จะใช้ที่ดินดังกล่าวแล้วนั้น

จะต้องทำหนังสือแจ้งคืนที่ดินนิคมสร้างตนเอง (น.ค.3) ต่อนายทะเบียนของ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เท่านั้น

ประเด็นของ “จอนนี่ มือปราบ” จะต้องพิจารณาจากอะไรบ้าง

1. ในการถือครองที่ดินประเภท นิคมสร้างตนเอง (น.ค.3) เป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์และมีคุณสมบัติครบถ้วนแล้วหรือไม่

คำตอบในประเด็นนี้ คือ จะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่าที่ดินประเภท นิคมสร้างตนเอง (น.ค.3) เป็นที่ดินที่มีวัตถุประสงค์ไว้สำหรับผู้ใด

ในกรณีนี้ที่ดินนิคมสร้างตนเอง (น.ค.3) มีไว้ใช้สำหรับผู้ที่เป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์ และไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง

หรือมีแต่เพียงเล็กน้อยไม่พอแก่การครองชีพตามมาตรา 35 (1) ถึง (6) ดังนั้น กรณีของ จอนนี่ มือปราบ เป็นข้าราชการมีอาชีพข้าราชการตำรวจมาก่อน

และมีที่ดินทำกินอยู่ก่อนแล้วย่อมไม่ใช่ผู้มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดิน นิคมสร้างตนเอง (น.ค.3)

ตามระเบียบที่อธิบดีกรมสหกรณ์ที่ดินกำหนด จึงไม่มีคุณสมบัติถือครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวและการเข้าทำประโยชน์ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยนั่นเอง

2. ในการถือครองที่ดินประเภท นิคมสร้างตนเอง (น.ค.3) กำหนดไว้ให้สมาชิกเป็นผู้ถือครองเท่านั้น

และไม่สามารถซื้อขาย หรือโอนให้บุคคลภายนอกได้ เว้นแต่ตกทอดสู่ทายาทโดยธรรมเท่านั้น

ในกรณีนี้เท่ากับว่า กรณี จอนนี่ มือปราบ ไม่ใช่ทั้งสมาชิกนิคมสหกรณ์และไม่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ตามประกาศกระทรวง

จึงมีสถานะเป็นบุคคลภายนอกที่ทำการบุกรุกที่ดินนิคมตามาตรา 15 ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 นั่นเอง

ขอบคุณข้อมูล: Sompard Komintarachat