Please Enable JavaScript in your Browser to visit this site

ร้อนนี้มีข่าวดี แผนลดค่าไฟที่ 3.99 บาท/หน่วย ลุ้นประกาศใช้ พ.ค.นี้

เรียกได้ว่าวันนี้ ได้มีการเปิดเผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับแนวทางปรับลดค่าไฟที่ 3.99 บาท/หน่วย ตามราคาเป้าหมายของรัฐบาล จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.15 บาท/หน่วยว่า ขณะนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้ศึกษาแนวทางเสร็จแล้ว ทันภายใน 45 วัน ตามโจทย์ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ค่าไฟมีราคาเป้าหมายที่ 3.99 บาท เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2568

ทั้งนี้ ต้องรอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ยืนยันว่าน่าจะทำให้ค่าไฟงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.2568 นี้ ลดเหลือ 3.99 บาท/หน่วย และมีแผนเดินหน้าหาแนวทางปรับลดค่าไฟให้ต่ำกว่านี้อีก

ส่วนในช่วงหน้าร้อนปีนี้ มีโอกาสสูงมากที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) จะสูงถึง 36,000 เมกะวัตต์ ใกล้เคียงกับพีกปี 2567 ที่ 36,792.1 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นสถิติพีกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วย เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2567

ส่วนข้อเท็จจริงในประเด็นที่มีกระแสข่าวและความกังวลเกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE Big Lot) 5,200 เมกะวัตต์ ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นไปอีก 25 ปีนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะการผลิตไฟส่วนใหญ่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ต้นทุนเฉลี่ย 2.94 บาท/หน่วย ขณะที่มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่เกิน 20% ของการผลิตไฟทั้งหมด และยังมีต้นทุนรับซื้อถูกกว่าอยู่ที่ 2.16 บาท/หน่วย

“หากมีการยกเลิกสัญญาที่เซ็นไปแล้วกว่า 70 สัญญา อาจถูกดำเนินคดี ยกเว้นว่าหากพบการกระทำผิดเงื่อนไขจึงจะสามารถยกเลิกสัญญาได้ และจากนี้จะเพิ่มเงื่อนไขในสัญญาใหม่ ไม่ให้กลายเป็นข้อผูกมัด 25 ปี”

สำหรับความคืบหน้าแนวทางร่างกฎหมายจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) ของประเทศไทย และร่างกฎหมายส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน (Solar Rooftop) ล่าสุดดำเนินการเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการเปิดประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในเดือนพ.ค.นี้ ก่อนเสนอที่ประชุมครม. และรัฐสภาพิจารณาได้ในเดือนมิ.ย.2568

ด้านนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่าการยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) พลังงานหมุนเวียน 5,200 เมกะวัตต์ ซึ่งบางโครงการได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว ไม่อาจจะทำได้  รวมถึงการยกเลิกโครงการส่วนที่เหลือที่ยังไม่ลงนามกว่าสิบสัญญา

จะทำให้เกิดข้อขัดแย้งว่าเป็นการดำเนินการแบบ 2 มาตรฐานระหว่างกลุ่มโครงการที่ลงนามและโครงการที่ยังไม่ได้ลงนาม การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 5,200 เมกะวัตต์ ไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า เพราะมีต้นทุนรับซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณ 2.7 บาท/หน่วย (โดยพลังงานแสงอาทิตย์ 2.18 บาท พลังงานลม 3.10 บาท

พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับ BESS (ระบบเดินไฟในแบตเตอรี่) 2.83 บาท/หน่วย เป็นราคารับซื้อที่ต่ำกว่าค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย (Grid Parity) ที่กฟผ. ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค)

โดยเดือนมี.ค.2568 ค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.18 บาท/หน่วย ช่วยให้ค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยลดลงประมาณ 4,574 ล้านบาท/ปี ดังนั้น การรับซื้อไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนจะไม่ทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะช่วยให้ประเทศไม่เสียโอกาสในการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน และมีอัตรารับซื้อในระดับที่เหมาะสม สามารถแข่งขันได้ ช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพทางด้านราคาค่าไฟฟ้าของประเทศได้ในระยะยาว

You cannot copy content of this page