Please Enable JavaScript in your Browser to visit this site

กรมธรณี เปิด 5 ปรากฏการณ์ หลังเกิดแผ่นดินไหว

จากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่ประเทศเมียนมา ที่ส่งผลกระทบมายังประเทศไทย ด้านกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดความรู้ 5 ปรากฏการณ์หลังเกิดแผ่นดินไหว โดยระบุว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหว หลายคนอาจคิดว่าอันตรายจบลงทันทีหลังแรงสั่นสะเทือนสงบลง

แต่ในความเป็นจริง แผ่นดินไหวยังส่งผลกระทบตามมาอีกหลายอย่างที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายและอันตรายเพิ่มเติมได้ โดยจะมี 5 ปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นหลังแผ่นดินไหว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก

1.#แผ่นดินไหวตาม (Aftershock)

แผ่นดินไหวตามเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กที่เกิดขึ้นหลังจากแผ่นดินไหวหลัก จากการปรับตัวของเปลือกโลกที่ได้รับแรงเครียดจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

แม้ว่าจะมีขนาดเล็กลง แต่แผ่นดินไหวตามก็อาจก่อให้เกิดอันตรายและสร้างความเสียหายเพิ่มเติม โดยเฉพาะกับอาคารที่ได้รับความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนครั้งแรก

2.#หลุมยุบ (Sinkhole)

แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวอาจกระตุ้นให้โพรงใต้ดินยุบตัวลง จนเกิดเป็นหลุมขนาดใหญ่บนพื้นผิวโลก ปรากฏการณ์นี้มักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีชั้นดินหรือหินปูนที่ละลายน้ำได้ง่าย

เช่นในบางพื้นที่ของภาคใต้ของประเทศไทย หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.1 เมื่อปี 2547 ได้มีรายงานว่าหลุมยุบเกิดขึ้นจำนวนมาก สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม

3.#ทรายพุ (Liquefaction)

ปรากฏการณ์ทรายพุ หรือที่เรียกกันว่า “ทรายเดือด” เกิดขึ้นเมื่อดินที่มีน้ำแทรกซึมอยู่ได้รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวจนสูญเสียความแข็งแรง

ส่งผลให้ตะกอนทรายที่อยู่ใต้พื้นดินเคลื่อนตัวขึ้นมาสู่ผิวดินในลักษณะของโคลนเหลว ทำให้สิ่งปลูกสร้างหรือถนนที่อยู่ด้านบนทรุดตัวลง

4.#แผ่นดินถล่ม (Landslide)

แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภูเขาหรือเชิงเขา อาจทำให้ดินหรือหินที่ไม่มั่นคงเกิดการเคลื่อนตัว ส่งผลให้เกิดแผ่นดินถล่ม ปรากฏการณ์นี้สามารถทำลายบ้านเรือน

เส้นทางสัญจร และสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ด้านล่างได้ อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมฉับพลันหากดินถล่มลงไปกั้นทางน้ำ

5.#น้ำใต้ดินเปลี่ยนสี (น้ำบาดาล น้ำพุร้อน น้ำผุด)

เกิดจากแรงสั่นสะเทือนในชั้นดินที่มีตะกอนโคลนและทรายอยู่ใต้ดินภูกพัดเข้ามาผสมกับน้ำใต้ดิน ทำให้น้ำมีสีขุ่นผิดปกติ และจะค่อยๆ กลับสู่สภาพปกติได้เมื่อตะกอนตกตะกอนและชั้นน้ำใต้ดินกลับสู่สภาวะสมดุล

ขอบคุณข้อมูล: กรมทรัพยากรธรณี

You cannot copy content of this page