Please Enable JavaScript in your Browser to visit this site

หมอเจด เปิดอาการ มีโอกาสเสี่ยงเป็น มะเร็ง ภายใน 6 เดือน

นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้โพสต์ข้อความเตือนระวังให้ดี! มีอาการแบบนี้ อาจเป็น “มะเร็ง” ใน 6 เดือน 1. น้ำหนักลดแบบไหนที่ต้องระวัง?เวลาที่อยู่ๆ น้ำหนักก็ลดลงแบบไม่ตั้งใจ ทั้งที่ไม่ได้คุมอาหารหรือออกกำลังกายหนักขึ้นบางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องดี

แต่จริงๆ แล้ว ถ้าน้ำหนักลดมากกว่า 5% ของน้ำหนักตัวในช่วง 6-12 เดือน (เช่น จาก 70 กก. เหลือ 66 กก. โดยที่ไม่ได้ทำอะไรเลย) อาจมีอะไรมากกว่านั้น

งานวิจัยล่าสุด “Prioritising primary care patients with unexpected weight loss for cancer investigation: diagnostic accuracy study (update)

Brian D Nicholson et al. BMJ. 2024. ”ศึกษาคนกว่า 3 แสนคน พบว่า การที่อยู่ๆน้ำหนักแบบนี้อาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็ง

โดยเฉพาะถ้าเกิดกับคนที่อายุเกิน 50 ปี หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย มันก็จะดีนะ ถ้าเจอเร็ว ก็มีโอกาสรักษาได้ทัน แต่ความน่ากลัวคือ หลายคนมองข้ามมันไป

2. ใครบ้างที่เสี่ยงที่สุด?

ถ้าพูดถึงโอกาสที่น้ำหนักลดจะเกี่ยวกับมะเร็ง งานวิจัยนี้ชี้ว่ากลุ่มเสี่ยงสูงคือ

🚨ผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป

🚨ผู้หญิงอายุ 60 ปีขึ้นไป

🚨คนที่เคยสูบบุหรี่

🚨คนที่มีอาการอื่นร่วมกับน้ำหนักลด

สำหรับคนกลุ่มนี้ โอกาสเป็นมะเร็งภายใน 6 เดือนหลังจากเริ่มน้ำหนักลดนั้นสูงกว่า 3% ซึ่งถือว่าเยอะพอที่หมอจะแนะนำให้ตรวจหาโรคมะเร็งแบบจริงจังนะครับ

ส่วนคนที่อายุน้อยกว่านั้น ถ้าไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย โอกาสเป็นมะเร็งก็ค่อนข้างต่ำ (ต่ำกว่า 3%) ซึ่งหมายความว่าไม่จำเป็นต้องรีบตรวจหามะเร็งในทันที

3. อาการอะไรบ้างที่ต้องจับตา?

น้ำหนักลดเองอาจยังไม่บอกอะไรมาก แต่ถ้ามาพร้อมกับอาการอื่นๆ โอกาสเป็นมะเร็งจะเพิ่มขึ้น งานวิจัยนี้พบว่าในผู้ชาย มี 17 อาการที่สัมพันธ์กับมะเร็ง เช่น

✅ อ่อนเพลียตลอดเวลา

✅ ปวดท้องบ่อย

✅ ดีซ่าน (ตัวเหลือง ตาเหลือง)

✅ ไอเรื้อรังแบบไม่มีเหตุผล

✅ กลืนอาหารลำบาก

✅ อาเจียนเป็นเลือด

✅ ปัสสาวะเป็นเลือด

✅ คลำเจอก้อนในทวารหนัก

ในผู้หญิง มี 8 อาการที่สัมพันธ์กับมะเร็ง เช่น

✅ ปวดหลังเรื้อรัง

✅ ดีซ่าน

✅ คลำเจอก้อนในอุ้งเชิงกราน

✅ อาเจียนเป็นเลือด

✅ ปัสสาวะเป็นเลือด

ถ้ามีอาการเหล่านี้ร่วมกับน้ำหนักลด โอกาสเป็นมะเร็งพุ่งสูงขึ้นหลายเท่านะ เช่น ในผู้ชายถ้ามีอ่อนเพลียร่วมกับน้ำหนักลดโอกาสเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น 1.43 เท่า

แต่ถ้าพบก้อนที่ทวารหนัก โอกาสจะสูงถึง 21 เท่า เลยทีเดียว ส่วนผู้หญิง ถ้ามีปวดหลังร่วมกับน้ำหนักลด โอกาสเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น 1.28 เท่า และถ้ามีก้อนในอุ้งเชิงกราน ความเสี่ยงสูงถึง 19.46 เท่า

4. ตรวจเลือดช่วยบอกอะไรได้บ้าง?

นอกจากอาการแล้ว งานวิจัยยังพบว่า ค่าตรวจเลือดบางอย่างผิดปกติอาจเป็นตัวบ่งชี้มะเร็งได้ โดยเฉพาะค่าที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบหรือการเปลี่ยนแปลงของเม็ดเลือด เช่น

🔴 อัลบูมินต่ำ (โอกาสเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น 3.24 เท่า)

🔴 เกล็ดเลือดสูง (3.48 เท่า)

🔴 เม็ดเลือดขาวสูง (3.01 เท่า)

🔴 ค่า C-reactive protein (CRP) สูง (3.13 เท่า)

แต่ไม่มีค่าตรวจเลือดไหนที่สามารถบอกได้ชัวร์ๆ ว่าคุณไม่มีมะเร็ง เพราะฉะนั้นถ้าผลเลือดปกติ แต่ยังมีอาการที่น่าสงสัย หมออาจยังต้องตรวจเพิ่มเติม

5. แล้วเราควรทำยังไงต่อ?

ถ้าแค่ผอมลงเพราะออกกำลังกายหรือกินน้อยลง ก็ไม่ต้องกังวล แต่ถ้าน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ และมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย รีบไปหาหมอเถอะ

🚨น้ำหนักลด >5% ภายใน 6-12 เดือน โดยไม่มีเหตุผล

🚨รู้สึกอ่อนเพลียเรื้อรัง หรือเบื่ออาหาร

🚨ปวดท้อง ไอเรื้อรัง กลืนลำบาก ดีซ่าน อาเจียนเป็นเลือด

🚨คลำเจอก้อนที่ผิดปกติ เช่น ที่อุ้งเชิงกราน หรือทวารหนัก

🚨ผลตรวจเลือดผิดปกติ เช่น เกล็ดเลือดสูง เม็ดเลือดขาวสูง CRP สูง

สรุปง่ายๆ คือ ถ้าคุณอายุ 50 ปีขึ้นไป (หรือ 60 ปีขึ้นไปในผู้หญิง) และน้ำหนักลดแบบไม่มีเหตุผล พร้อมอาการแปลกๆ ควรไปพบหมอเพื่อตรวจหามะเร็ง

อย่ารอให้สายเกินไป เพราะการเจอเร็ว ช่วยเพิ่มโอกาสรักษาหายได้สูง ส่วนคนอายุน้อยกว่านี้ ถ้าไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย โอกาสเป็นมะเร็งยังต่ำอยู่

แต่ถ้ามีอาการที่กล่าวมาข้างต้น ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่น้ำหนักลดจะเป็นมะเร็ง อาจมีสาเหตุอื่น เช่น โรคเรื้อรัง

การเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน หรือความเครียด แนะนำไปหาหมอเพื่อหาสาเหตุเถอะ ดีกว่าเสียใจทีหลัง ใครมีคำถามก็คอมเมนต์ไว้ได้เลยนะ

ขอบคุณข้อมูล: หมอเจด

You cannot copy content of this page