จากกรณี แบงค์ เลสเตอร์ หนุ่มอินฟลูฯ ที่โด่งดังจากแร็ปขายพวงมาลัยเลี้ยงคุณยาย เสียชีวิตหลังจากถูกจ้างให้ดื่มเหล้าจนหมดแบน เพื่อแลกกับเงินเพียง 3 หมื่นบาท ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2567(วันนี้) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)
ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีแบงค์ เลสเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์ดังเสียชีวิต ว่า เบื้องต้นต้องขอแสดงความเสียใจกับคุณยายของแบงค์ เลสเตอร์ ที่สูญเสียหลานรักไป
ตนเองได้ให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วว่ากรณีของแบงค์ เลสเตอร์
ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวง พม. อย่างไร ในเบื้องต้นทราบว่า ถือบัตรประจำตัวคนพิการ ซึ่งออกให้โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.)
และในส่วนคุณยายขณะนี้ ตนได้ให้กระทรวง พม. ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อดูว่ามีด้านใดบ้างที่กระทรวง พม. สามารถสนับสนุนได้เพิ่มเติม อาทิ เบี้ยผู้สูงอายุ
การปรับปรับปรุงที่พักอาศัย หรือสามารถช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง “ผมอยากให้กรณีของแบงค์ เลสเตอร์ เป็นกรณีสุดท้าย เพราะที่ผ่านมาไม่ใช่กรณีนี้คนเดียว
แต่เชื่อว่ามีอีกหลายต่อหลายหลายคน ที่พิการด้านสติปัญญา คล้ายๆ กันแบบนี้แล้วถูกใช้เป็นเหยื่อ ต้องใช้คำว่าเป็นเหยื่อของคนบางกลุ่ม หรือคนบางคนที่หวังหาประโยชน์
หวังหารายได้ผลประโยชน์ส่วนตัว จากความพิการของคนอื่น ขอวอนสังคมว่า ในช่วงปัจจุบันนี้ การทำคอนเทนท์มีรายได้เป็นกระแสที่สำคัญ ใครก็อยากทำคอนเทนท์
แต่ขอความกรุณาว่า อย่าเอาความพิการมาหากินแบบนี้“ นายวราวุธ กล่าว นายวราวุธ กล่าวว่า การหากินแบบอื่นโดยใช้ความพิการมีอีกเยอะเช่น ผู้ที่มีความสามารถอย่างอื่น
ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้สนับสนุนเรื่องการมีบัตรผู้มีความสามารถ จะแสดงดนตรี หรือมีความสามารถพิเศษใดๆ
สามารถมาทดสอบได้ที่กระทรวง พม. เพื่อขอมีบัตรผู้มีความสามารถได้ ดังนั้นการไปเอาเปรียบคนที่พิการด้านสติปัญญาแบบนี้ โดยให้ทำอะไรแปลกๆ
หรือเห็นเขาเป็นเหยื่อของความสนุกสนาน ขอให้เลิกเสีย เลิกพฤติกรรมเหล่านี้ ตนเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่อาจจะไม่ได้เป็นข่าว ไม่ได้เป็นคอนเทนท์ในโลกโซเชียลมีเดีย
ขอให้หยุดเสีย เพราะคนเหล่านี้เป็นบุคคลที่ควรจะได้รับการสนับสนุน และที่สำคัญหากคนกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนโดยถูกวิธีแล้วเขาจะเป็นกำลังที่สำคัญของสังคมอีกมาก
”ใครที่หาประโยชน์จากคนพิการแบบนี้ คุณนั่นแหละคือคนพิการของสังคม คุณเป็นคนที่ทำให้สังคมไทยกำลังพิการ คุณกำลังเป็นตัวถ่วงของสังคม ขอให้หยุดการกระทำเช่นนี้
ผมได้มอบแนวทางกระทรวง พม. ไปดูว่าในมิติของกระทรวง พม. สามารถฟ้องร้องเอาผิดอย่างไรได้หรือไม่ ถ้าทำได้ผมทำอย่างเต็มที่ เพราะการกระทำเช่นนี้
ไม่มีใครรับได้ ขอให้เห็นใจคนพิการ อย่าเห็นแก่ตัว อย่าเอาประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง อย่าทำตัวเป็นภาระของสังคม คนพิการเขาไม่ใช่ภาระของสังคม
แต่ในทางกลับกันคนที่ไปทำเช่นนี้ คุณนั่นแหละคือภาระของสังคม และตัวถ่วงทำให้สังคมไทยนั้นไม่สามารถก้าวเดินไปข้างหน้า“ นายวราวุธ กล่าว
นายวราวุธ กล่าวว่า หากพี่น้องประชาชนพบเห็นพฤติกรรมที่ไม่ควรเช่นนี้ พฤติกรรมที่เอาเปรียบคนพิการ พฤติกรรมที่คนพิการถูกเอาเปรียบ
ขอให้โทรศัพท์มาแจ้งที่ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) โทร. สายด่วน พม. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง
ขอบคุณข้อมูล: กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์