Please Enable JavaScript in your Browser to visit this site

แพทย์เตือน ‘โนโรไวรัส’ ไม่มียารักษาเฉพาะ เผยวิธีป้องกัน

สร้างความกังวลใจให้กับใครหลายๆ คนสำหรับ ‘โนโรไวรัส’ โดย พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและโฆษกกรมควบคุมโรค เปิดเผยในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าว ‘พร้อมก้าวสู่ปีใหม่ ปลอดโรคและภัยสุขภาพ’ ว่า หนึ่งในโรคที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงเทศกาลปีใหม่ คือ โรคอาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วงเฉียบพลัน

เป็นโรคที่มีการติดเชื้อได้ทั้งจากแบคทีเรียและไวรัส ข้อมูลผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษในปี 2567 พบผู้ป่วยมากที่สุดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยจะพบผู้ป่วยได้ทุกกลุ่มอายุ แต่จะพบมากที่สุดในโรงเรียน ช่วงอายุ 5-14 ปี

สถานการณ์โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน/อาหารเป็นพิษในประเทศไทย ในปี 2566 ผู้ป่วย 689,954 ราย เสียชีวิต 2 ราย ส่วนปี 2567 จำนวนผู้ป่วย 742,697 ราย เสียชีวิต 2 ราย ข้อมูลจากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด กรมควบคุมโรค พบรายงานการระบาดเป็นกลุ่มก้อนการระบาดเพิ่มขึ้น

พญ.จุไร กล่าวต่อว่า ขณะที่โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัส ระหว่างปี 2561-2567 มีผู้ป่วยตรวจพบเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) สายพันธุ์จี1 และ จี3 รวม 729 ราย เชื้อโนโรไวรัสไม่ใช่เชื้ออุบัติใหม่

ซึ่งเหมือนกับเชื้อไวรัสโรต้า (Rotavirus) เพียงแต่ประเทศไทยเริ่มมีการหยอดวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน ทำให้มีผู้ป่วยลดลง จึงทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อโนโรไวรัสเด่นขึ้นมา

ต่อมาเป็นสถานการณ์โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โดยในปี 2567 พบผู้ป่วย 743,697 ราย เสียชีวิต 2 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโนโรไวรัส อย่างไรก็ตาม การป้องกันสามารถโรค จะใช้การดูแลตามหลักสุขอนามัย ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ อย่างน้อย 20 วินาที

โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำ เพราะแอลกอฮอล์ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ และเน้นการรับประทานอาหารที่สุกใหม่ ส่วนผู้ประกอบการอาหาร หากป่วยด้วยอาการอุจจาระร่วง จะต้องหยุดงานจนกว่าจะหาย พญ.จุไร กล่าวอีกว่า โนโรไวรัส เป็นไวรัสที่ติดต่อได้ง่าย มีความทนทานต่อความร้อน และน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ ได้ดี

โดยทำให้เกิดโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบเฉียบพลันที่รุนแรงได้ในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าวัยอื่น คนส่วนใหญ่ที่ป่วยด้วยโรคโนโรไวรัสจะหายดีภายใน 1-3 วัน แต่ยังคงสามารถแพร่เชื้อไวรัสต่อได้อีก 2-3 วัน

โนโรไวรัสมักตรวจพบมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากสภาวะอากาศที่เย็น ทำให้เชื้อสามารถเจริญได้ดี ส่งผลให้อาหารและน้ำดื่มมีโอกาสปนเปื้อน ดังนั้น ในช่วงฤดูหนาว มีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสเพิ่มมากขึ้นได้

การติดต่อเชื้อโนโรไวรัส สัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัส, การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนโนโรไวรัส, การสัมผัสวัตถุหรือพื้นผิวที่มีการปนเปื้อนแล้วนำนิ้วที่ไม่ได้ล้างเข้าปากระยะฟักตัว ประมาณ 12-48 ชั่วโมง

อาการ ท้องเสีย อาเจียน คลื่นไส้ ปวดท้อง ร่วมกับมีอาการอื่นๆ ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว การรักษา ไม่มียารักษาเฉพาะ เป็นการรักษาตามอาการ ดื่มน้ำมากๆ เพื่อทดแทน ของเหลวที่สูญเสียไปจากการอาเจียนและท้องเสีย ซึ่งจะช่วยป้องกันการขาดน้ำ

You cannot copy content of this page