สร้างความฮือฮาได้อย่างต่อเนื่องเลยทีเดียวแม้จะออนแอร์ไม่กี่ตอน สำหรับละครอิงประวัติศาสตร์เรื่อง พรหมลิขิต กับการปรากฏตัวละครต่างๆที่บางคนนั้นมีอยู่จริง
ล่าสุดเพจ อยุธยา-Ayutthaya Station ได้ออกมาเปิดเผยประวัติของ วัดนางกุย สร้างสมัยอยุธยา เกี่ยวข้องกับ ยายกุย ในพรหมลิขิตหรือไม่
วัดนางกุย สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยากว่า 400 ปี เป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองด้านใต้ ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก มีสิ่งสำคัญประจำวัดคือ พระพุทธรูปศิลา สมัยทวารวดี
ผู้ที่สร้างวัดนางกุย คือ นางกุย เป็นผู้มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย จึงได้สร้างวัดขึ้น ในสมัยก่อนวัดนี้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก
ต่อมาหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 วัดนางกุยได้ถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรม จนมาถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3 ได้มาทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดต่าง ๆ ในพระนครศรีอยุธยา
วัดนางกุยเป็นวัดหนึ่งที่ได้รับการบูรณะในส่วนต่าง ๆ เช่น อุโบสถ หน้าบันรูปนารายณ์ทรงครุฑ และเสมาคู่ รวมทั้งเจดีย์และพระปรางค์ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2484
ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐาน “พระพุทธรูปศิลา สมัยทวารวดี” ปางสมาธิ และ “หลวงพ่อยิ้ม” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่แกะจากไม้สักทองและลงรักปิดทองเป็นพระเก่าแก่อยู่คู่กับวัดมานาน
จากคำบอกเล่าของคนเก่าแก่ว่าสมัยก่อน หลวงพ่อยิ้มได้ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยามาติดอยู่บริเวณหน้าวัด ทางเจ้าอาวาสได้อัญเชิญหลวงพ่อยิ้มมาประดิษฐานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
นอกจากนี้ยังมี ศาลแม่ตะเคียนทอง เป็นศาลต้นตะเคียนใหญ่ที่อยู่คู่วัดมานานกว่า 400 ปี และได้ยืนต้นตายเมื่อประมาณ พ.ศ. 2540 ทางวัดจึงได้นำมาแกะสลักเป็นรูปแม่ตะเคียนทอง และนำมาไว้บนตอตะเคียนต้นเดิม เพื่อได้ให้คนมาสักการะบูชา
ในขณะเดียวกันแฟนๆมีการพูดถึงชื่อของ วัดนางกุย ว่าไปเหมือนกับชื่อ ยายกุย ตัวละครสำคัญในละครเรื่อง พรหมลิขิต ทำให้มีคำถามว่า ยายกุย ในละครมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์หรือไม่อย่างไร
เฉลยว่าช่วงเวลาในละครที่ ยายกุย มีชีวิตอยู่คือสมัยสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 ครองราชย์ปี พ.ศ. 2251
ขณะที่วัดสร้างปี พ.ศ.2130 ซึ่งระยะเวลาห่างกันถึง 121 ปี หากเทียบแล้ว วัดนางกุย เกิดขึ้นก่อน ยายกุย ในละครหลายสิบปีเลยทีเดียว
ขอบคุณข้อมูล : อยุธยา-Ayutthaya Station